งานรำลึกถึงคุณพ่อห่วง ศรีสุขวัฒน์

580327_พุทธชีวศิลป์(วนบ.) เรื่อง รูปกับนาม อย่างอัจฉริยัง คลิกชื่อเพื่อดาวโหลดเอกสาร ,คลิกเพื่อดาวโหลดเสียง , คลิกดูวิดีโอ
พ่อครูว่า วันนี้ วัน ศุกร์ ที่ ๒๗ มี.ค. ๒๕๕๘ขึ้น ๘ ค่ำเดือนห้า(๕)ปีมะแมรายการธรรมาธรรมะสงคราม พุทธชีวศิลป์จากบ้านราชฯ อาตมาก็จะบรรยาย ธรรมะพระพุทธเจ้าอีก เป็นธรรมะที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาก่อนเลยในโลก และจริงที่สุด เพราะเป็นธรรมะที่ใหม่ แปลกไม่เหมือน ที่เคยมีมาก่อนเลย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าก็ไม่มีธรรมะเช่นนี้
ศาสนาพุทธมีการทำจิตให้หมดบาป หมดกิเลสได้ มีจิตวิเคราะห์ เอาจิตมาแจกแจงรายละเอียดต่างๆ แล้วแยกซับซ้อนได้ไม่รู้กี่ชั้น เป็นเรื่องที่อัจฉริยัง อัสสุตัง อัพภูตธรรม
อัจฉริยัง น่าอัศจรรย์ไม่เคยมีมาก่อนในโลก แล้วพระพุทธเจ้าประกาศมากว่า ๒๖๐๐ ปี แล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเพี้ยนไป เสื่อมจากความเข้าใจเดิม ตื้นขึ้นมาแล้วเพี้ยนเป็นโลกียะ ไปถึงเป็นเดรัจฉานวิชา ไปลิบลับเลย ก็ยังมีภาษาของพระพุทธเจ้า มีพระไตรปิฎก เรียนกันอยู่ พยัญชนะของพระพุทธเจ้ามีครบ ในพระไตรปิฎก แต่เรียนไม่ครบ ไม่เข้าใจอย่างตรง ภาษาวิชาการว่า มิจฉาทิฏฐิ เรียนไปแล้วไม่สัมมาทิฏฐิ เรียนแล้วไม่รู้ว่าธรรมะพระพุทธเจ้าปฏิบัติในป่าหรือในเมือง อ่านพระไตรฯแล้วก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องมีคำว่าป่าอยู่เยอะ
เพราะพระไตรฯ เรียบเรียงกันมาแต่ยุคโน้น เป็นยุคที่คนหลงป่ากัน ออกป่ากัน ท่านถึงตรัสแต่ประกาศศาสนาใหม่ๆให้มาสู่เมือง ไปพบเจ้าสำนักแต่ละสำนัก ก็มาลองภูมิท่าน ท่านก็ประกาศของท่าน แล้วท่านก็บอกว่าจะเสื่อม ด้วยหลัก ๔ ข้อ
เรามาดูที่อาตมาเขียนบทความมา
เรื่องรูป กับนาม
เราได้สาธยายความเป็นรูปกับนาม ที่มีอยู่ในโลก เมื่อรวมกันอยู่(กาย)ปรุงแต่งกันอยู่(สังขาร)ทั้งหลาย ให้เข้าใจชัดเจนขึ้นๆ และเรากำลังอธิบายอย่างพิสดารทั้งวิจัยวิจารณ์ ทั้งร้อยมาลัยให้เห็นเป็นพวงเล็กพวงน้อยไปเรื่อย พึงชมพึงดูเอาเถิด
เราเน้นถึงการยึดรูปยึดนาม ซึ่งใครยิ่งจำก็ยิ่งยึด หรือยิ่งประทับใจก็ยิ่งฝังกิเลสความชอบนั้นลงไปในอนุสัย คนผู้อวิชชาอยู่ จะไม่รู้ว่าตนยึดมันอยู่ จึงยังไม่ปล่อย ยังปล่อยไม่ได้ ปล่อยไม่เป็น หรือแม้บางเรื่องคุณไม่อยากจำมัน แต่ถ้าลึกๆคุณติดใจมัน มันก็คือฝังใจอยู่นั่นเอง นั่นแหละคืออุปาทานที่ยึดมันยิ่งๆขึ้นเมื่อยิ่งๆขึ้นมันก็ตกผลึกลงไปฝังอยู่ในใจลึกสุด เป็นอนุสัย ที่คุณไม่สามารถหยั่งลงไปรู้ตัวมัน(unconscious) มันฝังลึกในก้นบึ้งของจิตขั้นที่คุณหยั่งลงไปรู้มันเข้าไปไม่ถึงมัน เพราะมันอยู่ลึกลงไปในก้นบึ้งของใจสุดๆถึงขั้นที่ ๓ แต่ศาสนาพุทธมีวิธีศึกษาปฏิบัติของตนเองเฉพาะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งสามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริงจิตสำนึกขั้นลึกสุดแค่ไหน ก็รู้จักรู้แจ้งรู้จริงตัวมันได้ ชนิดที่เห็น(ปัสสติ) ด้วยการสัมผัสถึงขั้นมีการสัมผัสโดยการกระทบ(ปฏิฆสัมผัสโส) ซึ่งมีปัญญาของตนเองกับจิตของตนเองชนิดที่สัมผัสโดยการกระทบกัน(ปฏิฆสัมผัสโส)อย่างเป็นจริง เป็นสิ่ง ๒ สิ่งกระทบกัน
ปัญญานี้เป็นความรู้พิเศษที่เรียกว่าญาณบ้าง วิชชาบ้าง(เรียกว่าคุณวิเศษ) เป็นอุตตริมนุสสธรรม ปัญญาของเราเองจะสัมผัสโดยการกระทบกับจิตหรือเจตสิกหรือรูปหรือนิพพานของเราเอง
ซึ่งภาวะของปัญญาของเราเป็นตัวรู้จึงเรียกว่านาม ส่วนภาวะตัวถูกรู้นั้นก็คือจิตหรือเจตสิกหรือรูปเราเองอีกแหละจึงเรียกว่านามรูป(รูปที่เป็นนามธรรมในจิต) เป็นรูปในปรมัตถธรรม(ความจริงขั้นสูงพิเศษ)ได้แก่ รูป ๒๘(มหาภูตรูป ๔ + อุปาทายรูป ๒๔)
เช่น ปัญญาของผู้ปฏิบัติเจริญถึงขั้นมีประสิทธิภาพเข้าสู่โลกุตรภูมิ สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริงความจริงขั้นสูงพิเศษ(ปรมัตถธรรม)คือ ได้รู้จักรู้แจ้งรู้จริงความเป็นจิตของตนที่มีอาการเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในภาวะที่ตนเคยติดยึดนั้นๆ ขึ้นมา เป็นปัญญาที่นับว่าเหนือกว่าปัญญาของมนุษย์สามัญทั่วไปธรรมดาปกติ จึงเรียกว่าคุณวิเศษ ซึ่งเป็นปัญญาของมนุษย์ขั้นอาริยบุคคล
ปัญญาชนิดนี้เป็นข้อที่ ๕ ในวิปัสสนาญาณ ๙ ชื่อว่า นิพพิทานุปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณ ๙นั้นก็มีอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ–ภังคานุปัสสนาญาณ–ภยตู ปัฏฐานญาณ–อาทีนวานุปัสสนาญาณ–นิพพิทานุปัสสนาญาณ–มุญจิตุกัมยตาญาณ–ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ–สังขารุเปกขาญาณ–สัจจานุโลมิกญาณปัญญาที่มีคุณวิเศษถึงขั้นวิปัสสนาญาณเป็นพลังงานทางจิต ซึ่งมีพลังทั้ง ปัญญาและทั้งเจโต ก้าวหน้าเจริญขึ้นๆ ทั้ง ๒ นี้แหละคือฌานที่มีฤทธิ์เผากิเลส
นิพพิทานุปัสสนาญาณนั้นจัดเป็นจิตลักษณะของพลังปัญญา คือตัวปัญญาเจริญเป็นพลัง(ปัญญาวิมุติ)ซึ่งเป็นภาวะของพลังรู้ที่เก่งขึ้นชัดจริงแก่ใจยิ่งขึ้น(วิภูต)เป็นอำนาจและอาการของความรู้สึก(เวทนา)ขั้นนี้มันเป็นความรู้สึกที่เจริญปัญญาลึกล้ำยิ่งๆขึ้น ซึ่งเป็นอารมณ์(เวทนา)แท้ๆที่มีอาการทั้งเบื่อทั้งหน่ายสูงขึ้นไปอีก(เวทคู) นั่นคือตัวจิตเองที่มีลักษณะเจโต มันเกิดเจริญเป็นพลังของเนื้อจิตแท้ๆ สลายตัวเปลี่ยนสภาพไป(เจโตวิมุติ) เจริญก้าวหน้าขึ้นต่อไปอีก
ซึ่งเป็นอาการเปลื้องปล่อยจิตของตนที่มันเคยติดยึดนั้นๆออกไป(มุญจติ)จิตหรือเจโตเกิดพลังงานในตนเอง เป็นความเจริญก้าวหน้าของจิตใจต่อจากอาการเบื่อหน่ายคลายกำหนัด(นิพพินทติ)เป็นปล่อยวางแท้ในภาวะที่จิตมันปล่อยวาง(มุญจน)นี้เราก็เห็น(ปัสสติ)จิตที่เปลื้องปล่อยนี้ของตนด้วย จึงเรียกว่าญาณ เป็นญาณชนิดที่รู้จักรู้แจ้งรู้จริงภาวะจิตของเราที่เป็นไปได้ถึงขั้นนี้ ก็เรียกปัญญาวิปัสสนาญาณชนิดนี้ว่า มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณชนิดนี้แลคือวิปัสสนาญาณ ๙ข้อที่ ๖ความเจริญคืออินทรีย์ของปัญญาที่ทวียิ่งขึ้นเป็นปัญญินทรีย์ อภิวัฒน์พัฒนาขึ้นเป็นลำดับๆ เกิดอำนาจ(วสหรืออธิปไตย)ของปัญญาแท้ๆที่กำจัดกิเลสไปได้สำเร็จ
จะไม่ใช่อำนาจสะกดจิตลงไปๆหรือการกดข่ม หรือการบังคับด้วยเรี่ยวด้วยแรง ซึ่งก็ต้องเรียนรู้ในขณะที่จิตตื่นอยู่(ชาคริยานุโยคะ)และมีสัมผัส ๓อันเป็นปัจจุบันธรรมของรูปกับนามที่เกิดวิญญาณอยู่ตามปกติของคนมีชีวิตธรรมดา
ทั้งหมดนั้นอยู่ในฐานของจิตสามัญสำนึก(conscious)อันเป็นปรากฏการณ์จริงที่ครบถ้วนรูป ๒๘ กับนาม ๕พร้อมให้ปฏิบัติ ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๑๔ เรื่องนามกับรูป(นามรูป)
ศาสนาพุทธจะปฏิบัติในขณะที่ชีวิตประพฤติอยู่กับฐานจิตสามัญสำนึกเสมอตลอดไปทุกขั้นตอน ทั้งขั้นต้น–ขั้นกลาง–ขั้นปลาย ล้วนอยู่ในฐานจิตสามัญสำนึก (conscious) มีภาวะตื่นอยู่(ชาครี) ไม่ต้องหลับตาเข้าไปอยู่ในภวังค์ จึงจะลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับเหมือนมหาสมุทร หรือฝั่งทะเล ไม่โกรกชันเหมือนเหว มีการศึกษาไปตามลำดับ(อนุปุพพสิกขา) มีการกระทำไปตามลำดับ(อนุปุพพกิริยา) มีการปฏิบัติไปตามลำดับ(อนุปุพพปฏิปทา) นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยมีมาก่อน(อัจฉริโย อัพภุตธัมโม) ซึ่งมีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๐๙ ชัดๆ
ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นขั้นที่ ๑จิตสามัญสำนึก(conscious)เสมอ ไล่ลำดับๆเป็นขั้นๆไปซึ่งวิธีปฏิบัติหรือทฤษฎีอย่างนี้ มันแปลกอัศจรรย์พิเศษ แตกต่างไม่มีใดอื่นเหมือนเลย เห็นมีแต่ในศาสนาพุทธเท่านั้นในโลก วิธีปฏิบัติหรือทฤษฎีของศาสนาใดอื่นไม่มี พระพุทธเจ้าก็ตรัสยืนยันไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐ แน่วแน่ชัดเจน
พระองค์ทรงยืนยันว่า มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น(เอเสวมัคโค) ไม่มีทางอื่น(นัตถัญโญ)หรือในเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๓๘ พระพุทธองค์ก็ทรงยืนยันไว้แน่แท้อีกว่า ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ (โสดาบัน) สมณะที่ ๒ (สกิทาคามี) สมณะที่ ๓ (อนาคามี) สมณะที่ ๔ (อรหันต์)ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ (โสดาบัน) สมณะที่ ๒ (สกิทาคามี) สมณะที่ ๓ (อนาคามี) สมณะที่ ๔ (อรหันต์)
ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้(พุทธ) มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ (โสดาบัน) สมณะที่ ๒ (สกิทาคามี) สมณะที่ ๓ (อนาคามี) สมณะที่ ๔ (อรหันต์) ลัทธิอื่นๆ(ไม่ใช่พุทธ) ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง (สุญญา ปรัปปวาทา สมเณภิ อัญเญหิ)
เห็นมั้ยว่า พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า ลัทธิอื่นหรือทฤษฎีวิธีปฏิบัติแบบอื่น นอกจากศาสนาพุทธ ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จึงไม่มีอาริยบุคคลเด็ดขาด หรือแม้จะเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าเรียนรู้อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ไม่สัมมาทิฏฐิ จริง คือยังมิจฉาทิฏฐิอยู่ ก็ไม่สามารถบรรลุเป็นสมณะที่ ๑–๒–๓–๔ หรือไม่สามารถบรรลุเป็นอาริยบุคคล ๔ ได้เลย
คำว่า ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น แม้แต่ชาวพุทธที่นับถือมรรคองค์ ๘กันอย่างเทิดอย่างทูนนี้แหละ ต่อให้สัมมาทิฏฐิคือพ้นมิจฉาทิฏฐิแล้ว แต่ปฏิบัติไม่สัมมาปฏิบัติ หรือปฏิบัติก็ไม่พ้นสีลัพพตปรามาส(ปฏิบัติไม่เอาจริง ไม่ปฏิบัติให้เกิดผลสักที ได้แต่ลูบๆคลำๆเหลาะๆแหละๆเล่นๆอยู่ ไม่ลงมือปฏิบัติจริงจังเต็มที่) จึงเป็นสมณะที่ ๑–๒–๓–๔ มีอาริยบุคคล ไม่ได้
วิธีปฏิบัติหรือทฤษฎีวิเศษยิ่งเยี่ยมของ พระพุทธเจ้านั้น ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นทฤษฎีที่มหัศจรรย์ ไม่เคยมีมาก่อนในโลก มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้รู้ยิ่งทฤษฎีนี้ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใด ก็ประกาศทฤษฎีนี้ทั้งหมดเหมือนกันทุกพระองค์ เพราะเป็นของเฉพาะศาสนาพุทธแต่หนึ่งเดียวเท่านั้นนอกจากศาสนาพุทธไม่มีเลยในศาสนาอื่น ตลอดทุกยุคทุกสมัยที่พึงอุบัติขึ้นในโลก ไม่ว่าโลกลูกไหนๆที่จะพึงมีมนุษย์ และถึงคราที่จะต้องมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนั้น แต่ละโลก..แต่ละโลกในมหาเอกภพ
ความมหัศจรรย์ยิ่ง ที่ไม่เคยมีมาก่อน(อัจฉริยา อัสสุตัง อัพภุตธัมมา)ในประเด็นที่ว่า เหมือนมหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว มีการศึกษาไปตามลำดับ(อนุปุพพสิกขา) มีการกระทำไปตามลำดับ(อนุปุพพกิริยา) มีการปฏิบัติไปตามลำดับ(อนุปุพพปฏิปทา)นั้น เป็นไปตามลำดับอย่างน่ามหัศจรรย์จริงๆ
ซึ่งผู้ใดปฏิบัติไม่ถึงขั้นปรมัตถธรรม(จิต–เจตสิก–รูป–นิพพาน จนเป็นจริงสูงส่งลึกล้ำยิ่งกว่าสามัญปุถุชน) ก็ไม่เป็นคุณวิเศษ(อุตตริมนุสสธรรม)แท้ จึงไม่สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริงนามธรรมอันเป็นจิตในจิตเป็นอันขาด
ศาสนาพุทธปฏิบัติไปตามลำดับ ต้องปฏิบัติกำจัดกิเลสในจิตสำนึกขั้นต้นสามัญ (conscious)นี้ก่อน แล้วจึงจะกำจัดตัวกิเลสขั้นที่ ๒ ที่เรียกว่า จิตใต้สำนึก(subconscious) ต่อไปได้ เป็นลำดับๆ ไม่เช่นนั้นมันไม่มีทาง ไม่มีอุบายอื่นใดที่จะสามารถสัมผัสกิเลสได้เป็นความจริง มีภาวะจริงโทนโท่หลัดๆ ครบถ้วนการตื่นชาคริยา(การตื่นอยู่เป็นนิตย์) และมีชีวิตที่เต็มสติมันโต(เต็มสมบูรณ์ด้วยความระลึกรู้ตัวพร้อมครบทุกทวารทั้งภายนอกภายใน)
เดี๋ยวนี้เขาประโคมหลอกล่อ สร้างวิมานหลากหลาย เป็นทั้งมโนมยอัตตา และโอฬาริกอัตตา เขาหลอกด้วย โอฬาริกอัตตา แล้วให้คนหลงมโนมยอัตตา พฤติกรรม เหน็ดเหนื่อย เพื่อไปเสพสิ่งที่ปั้นมาหลงหลอกตนเอง ขยาย แล้วขยายเล่า เป็นวิมานที่ใหญ่ ย่ิง มโนมยอัตตา เขาใช้ไสยศาสตร์แบบลืมตา พวกดื้อตาใส หลอกสะกดจิตไป ผสมทางวิทยาศาสตร์มาใช้เก่งในทางที่ผิด เรื่องที่เขาทำให้ไม่ได้มีการเปลื้องปล่อยมีแต่การติดยึด แต่ของพุทธจะมีการเปลื้องปล่อย จะเกิดผลได้ เป็นวิมุติ ถึงนิพพาน อย่างมีสภาวะ พวกเราใครมีถึงจะเข้าใจดี แม้ไม่ถึงก็ค่อยๆเข้าใจได้ตามที่ทำได้ ความเป็นผลนี้จะเป็นอินทรีย์
ความเจริญของอินทรีย์ก็จะพัฒนาต่อไป ต้องกำหนดขอบเขต เป็นปริตตัง เราจึงสามารถทำให้กรอบขอบเขตลดได้ เป็นจิตเทวดาพรหม เป็นอุบัติเทพ เป็นปริตตาภา เป็นปริตตาสุภา เป็นอัปปมาณาภา เป็นอัปปมาณานุภา เป็นพรหมที่ลดกิเลสไม่ใช่ว่าเทวดาเพ่ิมกิเลส ท่านแปลไปเป็นแสงสีเสียงอะไร ที่เป็นเทวนิยม แต่พ่อครูอธิบายเป็นอเทวนิยม เห็นชีวิตของความเป็นสัตว์โลกอ่อนลง เทวดาก็เกิดเป็นเทวดาพรหม สูงขึ้นตามลำดับสูงสู่ความสว่างเรียกว่า อาภัสสรา มีทั้งปัญญาและเจโต สูงสู่ความเจริญยิ่งขึ้น เป็นอัปปมาณาสุภา จนกิเลสดับ ก็เป็นเทวดาที่เรียกว่าไม่มี เป็นกิณหา ที่จริงมันเป็นอสัญญี ไม่มีตัวที่อยู่ในสัญญา เป็นอุปาทานหมดไปแล้ว เมื่อไปถึงระดับสูงขั้นหมวดหนึ่งของพระพรหม
แม้สูงไปถึง สุภกิณหา หรือสู่อสัญญายตนะ ซึ่งต่างกัน อสัญญัสัตว์ และ การเป็นอสัญญีสัตว์คือดับไม่รับรู้ เป็นฤาษี แต่ว่า อสัญญายตนะ นั้นไม่ดับ เป็นความสว่าง
กายต่างกัน สัญญาต่างกัน
เขาดับไม่มีทุกข์เหมือนกัน แต่ไม่มีทุกข์ของสัมมาทิฏฐินั้นสว่าง สว่างอย่างเวหัพผลาพรหมคือมีผลเจริญไพบูลย์ และเป็นผู้มีอสัญญายตนะ เหมือนกับผู้ไม่ต้องชำระกิเลส อสัญญายตนะคือไม่ต้องกำหนดสำคัญมั่นหมายอีกแล้ว แต่มีอายตนะเชื่อมต่อเห็นๆว่าจิตใสสะอาดไม่มีกิเลส ตามวิปัสสนาญาณ ๙ ที่ได้อธิบายไป คือล่วงพ้นแล้ว สมติกมะแล้ว จึงเป็น อสัญญายตนะ ไม่ใช่แบบอสัญญี และพ้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
อสัญญีสัตตายตนะนั้น ไม่ต้องกำหนดรู้แล้ว เพราะกำหนดรู้ได้แล้ว จบแล้ว ผ่านเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเวหัพผลาพรหม ส่วนผู้มิจฉาทิฏฐิก็ไปเป็นอสัญญีสัตว์ แต่ของพระพุทธเจ้าเป็นอสัญญีสัตตายตนะ พ้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
วิธีปฏิบัติของพระพุทธเจ้ากำจัดกิเลสในภาวะที่เป็นจิตสามัญสำนึก(conscious)ซึ่งเป็นขั้นที่เกิดอยู่ตามชีวิตปกติ คนตื่นลืมตา มีชีวิตสามัญรับรู้ภายนอกอยู่เป็นธรรมดาสามัญ ลืมตาเพ่งเข้าไปภายในอ่านจิต ตรวจจิต ทำกับจิตของตน ทำใจในใจ (มนสิกโรติ)ได้ และเป็นจิตระดับขั้นต้น ให้ลดลงหรือหมดไปได้ก่อนอื่น เป็นฌาน
ซึ่งไม่ใช่การหลับตาเพ่งลึกเข้าไปข้างในจิตภวังค์จนตัดขาดข้างนอก ไปรู้อยู่ข้างใน ไม่รับรู้ข้างนอกแล้ว จึงจะชื่อว่าเข้าฌาน
การเข้าฌานหรือแม้การเข้าสมาธิ(สมาปัตติ)แบบพุทธนั้น จะเจริญเข้าไปเรื่อยๆในชีวิตปกติและปฏิบัติลืมตาสามัญอยู่กับชีวิตธรรมดามีภายนอกสัมพันธ์สัมผัสอยู่พร้อม แต่ละระดับแต่ละฐานะ ต่างก็ปฏิบัติอยู่ครบกรรม–การกระทำ–การงานทั้งขณะมีอาชีพ(อาชีวะ) ทั้งขณะมีการกระทำทุกอย่างพร้อมกายวาจาใจอยู่(กัมมันตะ) ทั้งขณะพูดจาอยู่(วาจา) ทั้งขณะนึกคิดขบคิดอยู่(สังกัปปะ)
ฌานหรือสมาธิแบบพุทธ ไม่ต้องปลีกเวลาไปเป็นพิเศษต่างหากเพื่อปฏิบัติ ซึ่งต้องหยุดงานหยุดการกระทำทางกายกรรม ทางวจีกรรมหมด และต้องหลับตาเข้าไปอยู่ในภพภายใน ไม่รับรู้ภายนอก…มิใช่เช่นนั้นฌานแบบพุทธนั้นปฏิบัติอยู่ก็ปฏิบัติในขณะลืมตา มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทุกทวารทั้งภายนอกทั้งภายในครบ แล้วเจริญผลไปเรื่อยๆตามลำดับๆ จนกว่าจะหมดสิ้นกิเลส
หรือแม้จิตเราจะหมดกิเลสขั้นต้นนี้ไปแล้ว ชีวิตเราก็ยังมีสัมผัสโลกธรรมอยู่เป็นปกติสามัญเหมือนเดิม ก่อนก็มี หลังก็มีแต่ทว่าจิตขั้นต้นที่เป็นสามัญสำนึก นั้นว่างจากกิเลสขั้นต้นนี้ได้แล้ว คนผู้นี้ก็ยังอยู่กับโลกธรรมนั้นอยู่ ไม่ได้หนีเข้าป่า ห่างไกลไปจากโลกธรรม หลบลี้โลกธรรมไปไหน ไม่เหมือนผู้ปฏิบัติที่มีแนวคิดหนีเข้าป่าเขาถ้ำไปปฏิบัติธรรม หนีสังคมโลกธรรม
แต่ก็ไม่ใช่ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจะไม่งด–ไม่เว้น–ไม่เว้นขาด เอาเสียเลย หรือจะคลุกคลีเกี่ยวข้องอะไรต่ออะไรไปเสียหมด พุทธก็มีการหลีกเลี่ยง(อารติ) การงด(วิรติ) การเว้น(ปฏิวิรติ) การเว้นขาด(เวรมณี)
ปฏิบัติอยู่ในบ้านในสังคมนี้แหละ ก็ต้องมีการสมาทานในสิ่งส่วนที่ต้องลด ต้องละ ต้องเลิก โดยการเว้นขาด(เวรมณี) มีการกำหนดกรอบสมาทานปฏิบัติ เป็นการพรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำไปตามลำดับแต่ละฐานะ ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งก็ต้องไม่คลุกคลี งดเว้นไม่เกี่ยวข้อง ต้องห่างพรากสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยทางภายนอกที่เราจะเรียนรู้ในการพรากนั้นๆไปตามฐานะแต่ละคน เพื่ออ่านจิตใจให้เห็นกิเลสที่ดิ้นรนได้ง่ายชัดเจน ตามอุบายโกศลของพระศาสดาการปฏิบัติตามอุบายโกศลนัยนี้เป็นไปตามลำดับ ลาด ลุ่ม เหมือนฝั่งทะเล ไม่สะดุด ไม่โขลกเขลก ไม่โกรกชันเหมือนเหว
และการปฏิบัตินั้น ก็มีหลักมรรคอันมีองค์ ๘ ที่จะเจริญอธิศีลสิกขา–อธิจิตสิกขา–อธิปัญญาสิกขาเกิดอธิมุตโตไปตามลำดับ ศีล ๕ คือฐานปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล ศีล ๘ ก็ฐานปฏิบัติเพื่อสกิทาคามีผล ศีล ๑๐ ก็ฐานปฏิบัติเพื่ออนาคามีผล ศีลโอวาทปาฏิโมกข์ คือฐานปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล อันมีศีลเป็นบาทฐานให้เกิดสมาธิ ให้เกิดปัญญา–วิมุติไปแต่ละคนๆ ตามฐานะของแต่ละฐานะ อย่างเป็นปัจจยาการมีลำดับๆ ซึ่งเชื้อเชิญให้ใครมาดูได้(เอหิปัสสิโก)
ปฏิบัติแบบพุทธไม่ต้องหนีโลก ไม่ต้องหลบไปหาที่ปฏิบัติต่างหากจากชีวิตสามัญประจำวัน ก็จะเกิดสามัญผลได้อย่างลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเลไปตามลำดับ น่าอัศจรรย์ด้วยวิธีเช่นนี้ ก็จะพัฒนาอธิจิต–อธิปัญญาเจริญทั้งกาย–วาจา โดยเฉพาะใจ ผลคือกาย–วาจา–ใจจะทำได้ตามข้อ
ศีลที่สมาทานนั้นๆไปเป็นปฏิสัมพัทธ์กัน กระทั่งเป็นผลสำเร็จ ก็เป็นอธิศีลสัมบูรณ์ ผู้บรรลุสัมบูรณ์ก็เป็นศีลบุคคล(คนมีศีล) กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีศีลถาวรแล้วตามข้อกำหนดนั้นๆในตนไปตลอดกาล โดยไม่ต้องสังวร ไม่ต้องควบคุม ไม่ต้องปฏิบัติอีก กาย–วาจา–ใจบริสุทธิ์ศีลตามศีลข้อนั้นๆได้บริบูรณ์สัมบูรณ์เรียบร้อย อยู่ในชีวิตปกติอัตโนมัติ เป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา) เป็นเองไม่ต้องมีใครคอยสั่งการเลย แม้แต่ตนเองก็ไม่ต้องคอยสั่งการ แต่เป็นเอง บัดนี้ชื่อว่า ผู้มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์
กล่าวคือ กายก็บริสุทธิ์ศีลปกติเป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา) วาจาก็บริสุทธิ์ศีลเป็นปกติเป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา) ใจก็บริสุทธิ์ศีลเป็นปกติเป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา) ศีลของผู้นี้จึงบริสุทธิ์ทั้งกายวาจาใจเป็นอัตโนมัติในคนผู้นั้นสัมบูรณ์หากใจของผู้มีศีลนี้แถมเป็นสมาธิอีกด้วย ใจเป็นสมาธิก็คือ ใจมีพลังตั้งมั่นแล้ว(สมาหิต) เช่น ใจที่บริสุทธิ์ศีลนี้เป็นใจที่ตั้งมั่นในศีลชนิดที่เที่ยงแท้(นิจจัง),ยั่งยืน(ธุวัง),ตลอดกาล(สัสสตัง), ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอื่นอีกแล้ว(อวิปริณามธัมมัง), ไม่มีอะไรจะมาหักล้างได้(อสังหิรัง), ไม่กลับกำเริบ(อสังกุปปัง)นี่คือ ศีลทำให้เกิดอธิจิตสิกขาเจริญ กระทั่งถึงวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติและปัญญาที่บริบูรณ์แบบพุทธนั้น ก็ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆก็เกิดเอง หรือเกิดเพราะหลับตาสะกดจิตเข้าไปเป็นฌานเจโตสมถะหรือเรียกกันว่าจิตเป็นสมาธิแล้วปัญญาจะผุดเกิดขึ้นมาเอง..มิใช่ปัญญาแบบนั้นเลย แต่เป็นปัญญาที่ได้จากการปฏิบัติมัคคังคัง(ตามกระบวนการองค์แห่งมรรค) โดยการปฏิบัติลืมตามีชีวิตปกติแบบพุทธ และมีสัมผัสภายนอกเชื่อมอายตนะภายใน(มีปสาทรูป ๕ กับ โคจรรูป ๕)ทำงานขึ้นเกิดภาวรูป เป็นกายให้ศึกษากายในกาย–เวทนาในเวทนา–จิตในจิต–ธรรมในธรรม
ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ๑๐เป็นประธาน มีสติสัมโพชฌงค์และวิรยสัมโพชฌงค์(หรือสัมมาวายามะ)เป็นพลังสำคัญช่วยสัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติ โดยมีตัวจักรทำงานคือธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ทำให้เกิดสัมมาในองค์มรรคที่เจริญขึ้นๆ(เช่น มีสังกัปปะเจริญสัมมา มีวาจาเจริญสัมมา มีกัมมันตะเจริญสัมมา มีอาชีวะเจริญสัมมา) จึงทำให้สัมมาทิฏฐิพัฒนาอานิสงส์เจริญขึ้นไปๆ[วายามะกับสติก็เจริญสัมมาไปตามสัมมาทิฏฐิด้วย] สัมมาทิฏฐิที่อภิวัฒน์พัฒนาขึ้นนั้น ก็สั่งสมไปเป็นปัญญินทรีย์เจริญก้าวหน้าไปๆๆ สู่ความสูงขึ้นๆ
ปัญญินทรีย์ซึ่งอยู่ในสภาพที่ยังมีสาสวะก็ได้ส่วนแห่งบุญหรือส่วนบุญ(ปุญญภาคิยา = ชำระกิเลสได้ ไปตามส่วนที่ได้ เป็นลำดับๆ) ให้ผลแก่ขันธ์(อุปธิเวปักกา)ผู้ปฏิบัติเมื่อสูงที่สุดก็ถึงขั้นปัญญาพละตามองค์ ๖ ซึ่งได้แก่ ปัญญา–ปัญญินทรีย์–ปัญญาพละ–ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์–สัมมาทิฏฐิ–องค์แห่งมรรค(มัคคังคัง) ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๘
นั่นคือ การทำใจในใจ(มนสิการ) ที่ผู้สัมมาทิฏฐิ ถ้าปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิบัติก็มีอานิสงส์ไปตามลำดับของกระบวนการแห่งอภิสังขาร ๓ ซึ่งได้แก่ ปุญญาภิสังขาร(การสังขารที่ยังชำระกิเลสอยู่ทั้งในกายสังขาร–ในจิตสังขาร–ในวจีสังขาร)-อปุญญาภิสังขาร(การสังขารที่ไม่ต้องชำระกิเลสแล้ว)-อเนญชาภิสังขาร(การสังขารที่ทำความไม่หวั่นไหวให้ยิ่งขึ้น) ซึ่งเป็นอภิสังขารภาระที่ผู้ปฏิบัติต้องทำภาระให้สิ้นภาระให้ได้ ทั้งขันธภาระ ทั้งกิเลสภาระ ทั้งอภิสังขารภาระ(ภาระ ๓) จนกระทั่งเป็นผู้ปลงภาระแล้ว(ปันนภาโร) มีภาระตกไปแล้ว(ปติตภาโร) มีภาระอันปลดแล้ว(โอโรปิตภาโร) มีภาระอันปล่อยแล้ว(สโมโรปิตภาโร) มีภาระอันวางแล้ว(นิกฺขิตตภาโร) มีภาระระงับแล้ว(ปฏิปฺปัสสัทธภาโร)
[พระไตรปิฎก เล่ม ๒๙ ข้อ ๖๙๗]
ผู้ปลงภาระลงแล้ว(ปันนภาโร) พ้นขาดแล้ว(วิปฺปมุตฺโต) คือ ผู้ปฏิบัติโพธิปักขิยธรรม ๓๗ที่สัมมาทิฏฐิได้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยโลกุตรธรรม ๓๗ครบโลกุตรธรรม ๙ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักเสาเอกสำคัญยิ่งของพุทธ ๒ หลัก คือ โพชฌงค์ ๗ กับ มรรคองค์ ๘ อันเป็นข้อที่ ๖ กับข้อที่ ๗ ของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ทั้งหมด ๗ ข้อ ที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันเป็นหลักหนึ่งเดียวในโลก ไม่ว่าจะเกิดยุคไหน ก็เป็นหนึ่งเดียวของโลกทุกยุคว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗นี้แหละที่เป็นโลกุตรธรรม ๓๗
โลกุตรธรรมคือ ธรรมที่ไม่เป็นทาสหรือไม่ติดยึดโลกทุกโลก เพราะรู้จักรู้แจ้งรู้จริงในความเป็นโลก ไม่ว่าจะเป็นโลก ๓ ได้แก่ ๑.กามโลก(กามภพ) ๒.รูปโลก(รูปภพ) ๓.อรูปโลก(อรูปภพ) [พตปฎ. เล่ม ๑๑ ข้อ ๒๒๘] หรือไม่ว่าโลก ๖ ได้แก่ ๑.อบายโลก(ความวนเสพติดยึดอยู่กับความเป็นกับโลกที่เสื่อมต่ำ ๔ ภูมิ) ๒.มนุษย์โลก(ความวนเสพติดยึดอยู่กับความเป็นมนุษย์ ๑) ๓.เทวโลก(ความวนเสพติดยึดอยู่กับความเป็นเทวดา ๖ ภูมิ พรหม ๒๐ ภูมิ) ๔.ขันธโลก(ความวนเสพติดยึดอยู่กับความเป็นขันธ์ ๕) ๕.ธาตุโลก(ความวนเสพติดยึดอยู่กับความเป็นธาตุ ๑๘ ของเวทนา) ๖.อายตนโลก(ความวนเสพติดยึดอยู่กับความเป็นอายตนะ ซึ่งมีอายตนะ ๑๒ เป็นต้น) ผู้สนใจตรวจสอบได้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๙ ข้อ ๑๔ ซึ่งมีรายละเอียดลึกซึ้งมาก
โพธิปักขิยธรรม ๓๗เป็นหลักที่รวมเนื้อแท้ๆแห่งทฤษฎีปฏิบัติของพุทธรวมกับโลกุตรธรรม ๙ซึ่งระบุชื่อของอาริยชนที่มีอาริยพุทธธรรมแท้แห่งพุทธ ก็รวมเป็นโลกุตรธรรม ๔๖ เริ่มตั้งต้นจากโสดาปัตติมรรค–โสดาปัตติผลต่อๆไปกระทั่งอรหัตผลจนสุดท้ายคือนิพพาน(พตปฎ. เล่ม ๓๑
ข้อ ๖๒๐) ด้วยการมีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์มาตลอด จึงทำให้พัฒนาสัมมาทิฏฐิ ซึ่งต้องมีความรู้ในความเป็นสัมมาทิฏฐิ ๑๐ (พตปฎ. เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๗)ก่อน จึงจะปฏิบัติมีมรรคมีผลของโลกุตรธรรมได้เป็นสัมมาการศึกษาปฏิบัติธรรมแบบพุทธนั้นคือศีล–สมาธิ–ปัญญาหรือไตรสิกขา ที่สัมมาทิฏฐิ
ศีลที่มีประสิทธิผล มีคุณสมบัติสัมมาทิฏฐิในคนผู้ใด ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้มีศีลตรงกับคำแปลที่ว่า ปกติ เพราะเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ในศีลนั้นๆ ด้วยใจหรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วเข้าขั้นสมาหิตบรรลุผลสัมบูรณ์ ถึงขีดนิจจัง–ธุวัง–สัสสตัง–อวิปริณามธัมมัง–อสังหิรัง–อสังกุปปัง ใจนั้นจึงเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง
ใจประเสริฐที่สุด ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ(มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา) ตามพระวจนะที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าซึ่งผู้บรรลุศีลนั้นแล้วใจก็เป็นพลังปัญญา–พลังเจโตสัมบูรณ์ โดยเจ้าตัวไม่ต้องสังวร ไม่ต้องควบคุม ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องดูแลตนในศีลข้อที่ตนเป็นปกติแล้วนั้นอีก กาย–วาจา–ใจของผู้นั้นที่บรรลุศีลแล้วจึงเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า ตถตานั่นก็คือ กาย–วาจา–ใจของผู้นั้นทั้งกายก็บริสุทธิ์–วาจาก็บริสุทธิ์–ใจก็บริสุทธิ์
ไม่ละเมิดศีลข้อที่บรรลุนั้นไปตลอดอย่างถาวรยั่งยืน เป็นความจริง(ตถตา) เป็นเช่นนั้นเองแล้ว เพราะไม่ต้องมีใครไปควบคุมอีกแล้ว บริสุทธิ์อยู่ด้วยตัวเองตลอดกาลและใจก็เป็นสมาธิ ซึ่งก่อนจะเป็นสัมมาสมาธิสัมบูรณ์ขั้นสมาหิต ก็ต้องผ่านการปฏิบัติจนจิตใจเจริญความเป็นฌานมาเป็นลำดับ กระทั่งสัมบูรณ์จิตใจตั้งมั่นแล้ว(สมาหิต) ครบสัมมาสมาธิ
ฌาน ๔ที่เป็นฌานแบบพุทธนี้ จึงเป็นฌานจิตที่ผ่านการปฏิบัติบรรลุอธิจิตอย่างพิเศษ มีคุณวิเศษ(อุตตริมนุสสธรรม) ซึ่งฌาน ๑ ถึงฌาน ๔ที่เป็นอุตตริมนุสสธรรมนี้ เป็นฌานที่มีคุณลักษณะไม่เหมือนฌานสามัญทั่วไป ตามที่เรียนที่รู้ที่ปฏิบัติกันอยู่ดื่นดาษ ด้วยวิธีหลับตาปฏิบัติ เข้าฌาน–ออกฌานอันเป็นฌานที่อยู่ในภวังค์ ออกมาจากภวังค์แล้วไม่มีฌานจะได้ฌานหรือจะมีฌานอีกก็ต้องไปหลับตาเข้าฌานกันใหม่ ต้องเข้าไปอยู่ในภวังค์กันใหม่อีก มันเป็นการได้ฌานโดยความยาก(กิจฉ) โดยความลำบาก(กสิร) คำว่าได้โดยยาก(กิจฉลาภี) หรือได้โดยไม่ยาก(อกิจฉลาภี) –ได้โดยลำบาก(กสิรลาภี) หรือได้โดยไม่ลำบาก(อกสิรลาภี)ในฌาน ๔นี้ มีนัยสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้เข้าใจในโลกุตรธรรม
เพราะฌานของพุทธ ไม่ใช่ฌานที่ต้องเข้าฌาน–ออกฌานแบบฌานนอกพุทธฌานที่ปฏิบัติได้สำเร็จจนกระทั่งเป็นปกติในชีวิตลืมตาสามัญนี้ ที่ปฏิบัติด้วยมรรค ๗ องค์ ก็จะสั่งสมเป็นจิตตั้งมั่นคือสมาธิไปตามลำดับ เมื่อสัมบูรณ์ถึงที่สุด ตั้งมั่นแล้ว(สมาหิต)นั้น จะเป็นฌานพิเศษ
จิตที่ตั้งมั่นแล้ว(สมาหิต)คือสมาธิที่สัมบูรณ์แล้วนี้ จะเป็นจิตที่ได้ฌานหรือได้สมาธิเองโดยไม่ต้องอยากได้(นิกามลาภี)-ได้โดยไม่ลำบาก(อกิจฉลาภี)ในฌานทั้ง ๔ หรือจิตคนผู้นี้ได้ฌานทั้ง ๔ โดยไม่ยาก(อกสิรลาภี)ชัดๆก็คือ ผู้บรรลุผลที่เป็นฌาน ๔ แบบพุทธนี้จะเป็นผู้ได้ฌานโดยไม่ต้องอยากได้(นิกามลาภี) มันจะเป็นฌานในตนเองโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นผู้ได้ฌาน ๔ นี้ได้ไม่ยาก(อกิจฉลาภี),ได้ไม่ลำบาก(อกสิรลาภี)เนื่องจากวิธีปฏิบัติของพุทธไม่ใช่วิธีแบบหลับตา หรือแบบหนีสังคมเข้าป่าเขาถ้ำ
จบ…
Related posts