ก.ค.232018คอลัมนิสต์ชาวอโศกนสพ.เราคิดอะไรสื่อสารเราคิดอะไร/ลูกอโศกฯ ฟ้าสาง “จนได้ ถ้าใจเราเพียงพอ” ถ้าพูดถึง “ความจน” เชื่อว่าคงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากหลีกหนี ไม่อยากพบเจอ ไม่อยากไปสู่จุดนี้ ไม่อยากเกิดมา “จน” ซึ่งมันก็คงดูไม่แปลกในสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน เพราะค่านิยมในสังคมทุนนิยม ปลูกฝังให้เราเทิดทูน บูชา “เงินทอง” เป็นประดุจดั่งพระเจ้า เงินจะดลบัลดาลได้ทุกสิ่ง เงินจะให้ความสุขเราได้ทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งเงินสามารถทำให้เราอยู่เหนือกว่าคนอื่นๆ จนค่าราคาของความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน เพราะเงินที่มีไม่เท่ากัน จนเหมือนอยู่กันคนละโลก แต่ในโลกของบุญนิยม หลวงปู่สมณะโพธิรักษ์สอนให้เรา “มุ่งมาจน” เดินตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเป็นถึงลูกกษัตริย์ที่แสนร่ำรวยเหนือใคร แต่ท่านก็สละสิ่งเหล่านั้น เพื่อมาเป็น “คนจน” ให้ชาวพุทธได้ประจักษ์ว่า หนทางแห่งพระนิพพานมิใช่การแสวงหาความสุขนอกตัว มิใช่ความหลง การติดเสพรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส แต่ทว่าเป็นการสละซึ่งความสุขจอมปลอมเหล่านั้น มาสู่ความสุขที่แท้จริงของชีวิต นั่นคือการไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่หลงติด ไม่เพิ่มพูนกิเลสตัณหา อุปาทานให้จิตวิญญาณ และมุ่งเพียร ลด ละ เลิกสิ่งที่หลงติด ยิ่งปฏิบัติได้มากเท่าใดๆจิตก็เป็นอิสระจากกิเลสได้มากขึ้นเท่านั้นๆ ในการจัดค่ายเพื่อพัฒนาเยาวชนของชาวอโศก ซึ่งชาวบวรภูผาฟ้าน้ำได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดค่ายนั้น จึงได้มีแนวทางที่จะปลูกฝัง “ความจน” หรือ “ความพอเพียง” ความพอใจในสิ่งที่ตนมีให้กับเยาวชนของเรา เพื่อที่จะให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีความรู้ ความเข้าใจถึงสาระสัจจะที่แท้จริงของชีวิต ว่าไม่ต้องมีมากก็ได้ ไม่ต้องมีอะไรสมบูรณ์พร้อมก็ได้ มีเท่านี้ พอมี พอกิน และมีความสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ จนท้ายที่สุดเป็นที่พึ่งให้กับผู้อื่นได้ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของชีวิตแล้ว ค่าย สร้าง “คนจน” สุขสำราญเบิกบานใจ ในการเตรียมงานพุทธาภิเษก สุดยอดปาฏิหาริย์ ครั้งที่ ๔๒ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ บวรปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ของชาวอโศก เทอมการศึกษาที่ ๒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ จึงได้มีเป้าหมายของการจัดค่าย เพื่อให้นักเรียนได้มาพัฒนาคุณธรรมในตน ฝึกลดละการเอาแต่ใจตนเอง และเสริมสร้างสัมมาทิฏฐิในหมู่มวลมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี และเพื่อเตรียมงานพุทธาภิเษก สุดยอดปาฏิหาริย์ ครั้งที่ ๔๒ ซึ่งถือเป็นงานที่สำคัญของชาวอโศก ฉันได้รับมอบหมายให้เป็น “ผู้ประสานงานค่าย” ครั้งแรก ซึ่งโดยปกติแล้วฉันจะได้รับหน้าที่ในการเป็นฝ่ายบูรณาการ แต่ค่ายนี้ไม่มีการบูรณาการจึงได้มาฝึกงานในหน้าที่อื่นๆ ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ฉันจะได้เรียนรู้ และได้ประสบการณ์ในการทำงานเพิ่มขึ้น ภายใต้การแนะนำของพี่ๆ และทีมงานที่คอยช่วยกันทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยในค่ายนี้จะมีการจัดค่ายในรูปแบบคล้ายๆค่าย “ยุวพุทธทายาท” คือ น้องๆนักเรียนแต่ละกลุ่มจะได้พักอยู่ตามบ้านในชุมชน โดยมีคุรุ พี่เลี้ยงคอยดูแล หนึ่งกลุ่มก็จะอยู่ด้วยกันในบ้านหนึ่งหลัง และจะต้องฝึกฝนการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือกัน และให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ การดูแลรักษาความสะอาดในบ้าน รวมไปถึงการฝึกทำอาหารกินเอง น้องๆจะได้ฝึกการพึ่งตนเอง จนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ ได้เรียนรู้การก่อไฟแบบสามเส้า หาฟืนเองตามธรรมชาติ การหาวัตถุดิบทำอาหารเองจากสวนต่างๆ หรือผักที่มีในชุมชน ด้วยความคิดสร้างสรรที่จะปรุงเป็นอาหารไร้สารพิษเลี้ยงตัวเองและคุรุในกลุ่ม ตลอดจนได้ถวายท่านสมณะ สิกขมาตุประจำกลุ่ม ที่ท่านจะได้รับนิมนต์ไปตามบ้าน เสมือนงานขึ้นบ้านใหม่เลยทีเดียว และในคืนสุดท้ายของค่ายยังมีกิจกรรมรอบกองไฟ ที่จะให้น้องๆได้มาประกวดอาหารจากความคิดสร้างสรร ที่แต่ละกลุ่มสามารถสรรหาวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มี มาปรุงเป็นอาหารที่แปลกใหม่ และรสชาติดีได้อย่างน่าประทับใจหลายกลุ่มเลยทีเดียว รวมไปถึงกิจกรรมการแสดงสะท้อนคุณธรรม ถึงอานิสงส์ของการรักษาศีล ๕ ซึ่งน้องๆก็สามารถแสดงออกได้อย่างมีความสามัคคี และเข้าใจถึงอานิสงส์ของการรักษาศีลแต่ละข้อได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การที่เราจะมาเป็นคนจนที่เบิกบานใจได้ ต้องเริ่มตนที่การพึ่งตนเองให้ได้ก่อน ฝึกลดละความอยาก รู้จักพอเพียง พอใจในความเรียบง่าย ธรรมดาๆ ไม่ต้องหรูหรา ไม่ต้องมีสิ่งบำรุงบำเรอกิเลสมาก แต่เราจะยิ่งมีความสุขแท้ที่มากมาย ได้เห็นน้องๆมีความสุขกับการเป็นคนจนมหัศจรรย์ได้แบบนี้ คุรุ อาๆ พี่ๆก็ดีใจที่เราสร้างคนจนที่สุขสำราญเบิกบานใจได้สำเร็จแม้จะเพียงช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม [embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=T9m5JVjjBgs[/embedyt] Categories: คอลัมนิสต์ชาวอโศก, นสพ.เราคิดอะไร, สื่อสารBy Faklairung23 กรกฎาคม 2018 Author: Faklairung Post navigationPreviousPrevious post:610723_พุทธศาสนาตามภูมิ บ้านราชฯ ตอบปัญหาให้มีสภาวะอันพ้นตรรกะNextNext post:ลูกกตัญญูที่ดี ควรเป็นอย่างไรRelated Postsนสพ.ข่าวอโศกฉบับที่ ๕๗๒(๕๙๔) รวมปักษ์ สิงหาคม ๒๕๖๗2 กันยายน 2024ฉบับที่ ๕๗๑(๕๙๓) นสพ.ข่าวอโศกรายปักษ์ ประจำเดือน กรกฎาคม ๒๕๖๗6 สิงหาคม 2024ฉบับที่ ๕๗๐(๕๙๒) ข่าวอโศกรวมปักษ์ มิถุนายน ๒๕๖๗3 กรกฎาคม 2024ฉบับที่ ๕๖๙(๕๙๑) นสพ.ข่าวอโศก รวมปักษ์พฤษภาคม26 มิถุนายน 2024ฉบับที่ ๕๖๘(๕๙๐) นสพ.ข่าวอโศก รวมปักษ์เมษายน 67 “พ่อครูละสังขาร”4 พฤษภาคม 2024ฉบับที่ ๕๖๗(๕๘๙) นสพ.ข่าวอโศก ฉบับรวมปักษ์ มีนาคม ๒๕๖๗1 เมษายน 2024